Wednesday, November 28, 2007

จดหมายเปิดผนึกต่อสังคมไทยและประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สืบเนื่องจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันจะทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และได้มีการเคลื่อนไหวของเพื่อนนักศึกษา ให้ สนช. ถอนการพิจารณาพระราชบัญญติดังกล่าวนั้น

พวกเราขอให้กำลังใจและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเพื่อนนักศึกษาที่เรียกร้องให้ สนช. ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นการปกป้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อันเป็นสาธารณสมบัติจากการแปรรูปให้อยู่ภายใต้อาณัติของคณะผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ต่อสถานการณ์ดังกล่าว พวกเราที่เป็นนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นดังนี้

1. สมาชิกสภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ที่มาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ได้เร่งรีบออกกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับระบบราชการ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่โปร่งใส ปิดบังบิดเบือนข้อมูล และสร้างผลกระทบต่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายล้วนมีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับระบบราชการและกลุ่มทุนที่แสวงหาผลประโยชน์กำไร เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร พระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าชุมชน (ฉบับราชการ) พระราชบัญญัติน้ำ รวมถึงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการเปลี่ยนสถานะมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เกิดจากความเรียกร้องต้องการของประชาชนภาคเหนือในปี พ.ศ.2493 ที่ต้องการให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่


ดังนั้น การรวบรัดพิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยไม่ทันฟังเสียงประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนอย่างรอบด้าน จึงเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ถือเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ผิดกับเจตนารมย์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสิ้นเชิง


พระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีวิธีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ตามหลักการสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นไม่ควรเร่งรีบพิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนี้ และควรรอให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการอย่างรอบด้านกับรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผู้ต้องรับผิดชอบโดยตรงในอนาคต


3. รัฐบาลภายหลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม นี้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการประชาพิจารณ์ที่มีหลายภาคส่วนเข้าร่วมและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน เป็นกลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายเสนอข้อมูลความคิดเห็น มุมมองต่างๆ ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ และเป็นการให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งอาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ต่างๆ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นภาคเหนือ มีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย และมิใช่เพียงเวทีจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น


4. เราเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ควรจะเป็นนั้น ต้องไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่มุ่งแสวงหากำไร แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่สำนึกในบุญคุณของประชาชนที่เรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียภาษี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกชนชั้นเข้ามาศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการที่รับใช้ประชาชนและเพื่อศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้วยความเชื่อมั่น

กลุ่มนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่